SRT ในสื่อ

คมนาคมจับมือญี่ปุ่น สานต่อ “บางซื่อ-ด่วนใต้ดิน-Smart City ภูเก็ต


        ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับการสานต่อการดำเนินงานจากการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมระดับสูงไทย – ญี่ปุ่น (High Level Joint Commission: HLJC) ครั้งที่ 5 เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 จากการหารือระหว่าง นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายวาตะนาเบะ ทาเคยูกิ (H.E. Mr. WATANABE Takeyuki) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (State Minister of Ministry of Land, Infrastructure, Transport and Tourism) การดำเนินการภายใต้บันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม และ MLIT ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร (MOC between MOT and MLIT on the Policy Planning and Technologies on Road Traffic) เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา

โดยทั้งสองฝ่ายรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการในคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกความร่วมมือฯ ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นอยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเสนอกระบวนการดำเนินงานของฝ่ายไทย อาทิ โครงการศึกษาการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส – สำโรง) และการประยุกต์การพัฒนาโครงการเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ในภาคคมนาคมขนส่งที่เหมาะสมกับประเทศไทย เป็นต้น ก่อนจัดการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ครั้งที่ 1 และติดตามความคืบหน้าในประเด็นอื่น ๆ ดังนี้

1. การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อสู่เมืองอัจฉริยะ โดยมี บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRT Asset : SRTA) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการกำกับโครงการฯ ทั้งในมิติการลงทุน และการบริหารงานเชิงพาณิชย์ โดยคาดหวังให้ความร่วมมือทางวิชาการ ทั้งบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับฝ่ายญี่ปุ่น (กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น) และโครงการด้านเมืองอัจฉริยะภายใต้กรอบการประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูงโครงการเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนระหว่างอาเซียน – ญี่ปุ่น “Smart JAMP” มีส่วนช่วยสนับสนุนการดำเนินนโยบายในระยะต่าง ๆ ของฝ่ายไทย

2. โครงการเมืองอัจฉริยะภูเก็ตเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจในจังหวัดภูเก็ต โดยกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง และการท่องเที่ยวญี่ปุ่น (MLIT) รายงานการพัฒนาเมืองอัจฉริยะภูเก็ตด้านการจัดการข้อมูลจราจรโดยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ พร้อมกับการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะในจังหวัดภูเก็ต โดยได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ซึ่งปลัดกระทรวงคมนาคมได้แจ้งบทบาทการผลักดันในมิติคมนาคมขนส่งอย่างเป็นระบบ อาทิ แผนพัฒนา MR-MAP จากสุราษฎร์ธานี – ภูเก็ต ที่ครอบคลุมถึงโครงการทางพิเศษเส้นทางกะทู้ – ป่าตอง และระบบขนส่งสาธารณะ การพัฒนาเส้นทางเพิ่มเติมรองรับการเติบโตของเมือง โดยขยายโครงข่ายจากเส้นทางหลัก เป็นต้น

3. การคืนภาษีนำเข้า ภาษีมูลค่าเพิ่ม และค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมให้แก่เอกชนญี่ปุ่นในโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างสอบถามความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการปรับกรอบวงเงินโครงการฯ เกี่ยวกับการคืนภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงแสวงหาแนวทางคลี่คลายประเด็นค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ภาคเอกชนญี่ปุ่นในการลงทุนโครงการดังกล่าวให้สำเร็จลุล่วงด้วยดี