SRT ในสื่อ

ถอดบทเรียน TOD สถานีรถไฟใต้ดินกรุงโซล สู่แนวทางการพัฒนาสถานีขนส่งสาธารณะกรุงเทพฯ

ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เป็นเมืองที่การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าระบบราง ตามแนวทางของTOD (Transit - Oriented Development) หรือการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะ จนสามารถพัฒนาเมืองด้วยการสร้างสถานีรถไฟฟ้าระบบราง ที่มีจำนวนสถานีมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากมหานครนิวยอร์คซึ่งได้รับการยกย่องว่ามีโครงข่ายรถไฟฟ้าระบบรางที่ดีที่สุดในโลก เหตุใดพวกเขาจึงประสบความสำเร็จด้านนี้อย่างมาก วันนี้เราจะมาถอดบทเรียนความสำเร็จจากประเทศที่ไม่ได้มีดีแค่อุตสาหกรรมบันเทิงแห่งนี้

ย้อนกลับไปในช่วงประมาณปีค.ศ. 1980 - 2000 การพัฒนาพื้นที่ดินของกรุงโซลส่วนใหญ่ เกาะกลุ่มอยู่ตามแนวถนนสายหลัก เน้นการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถประจำทาง จึงเกิดปัญหาเรื่องการขยายเมืองอย่างไร้ทิศทาง (Urban Sprawl)ด้วยภาคธุรกิจต่างๆ แย่งจับจองพื้นที่ริมถนนสายหลักเพื่อให้ได้ทำเลที่เดินทางสะดวกที่สุด ทำให้การเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมือง ต้องเดินทางด้วยการใช้รถยนต์หรือรถประจำทางเท่านั้น แม้กรุงโซลเริ่มมีรถไฟฟ้าระบบรางเกิดขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.1974แต่ประชาชนยังไม่นิยมใช้มากนัก ส่วนใหญ่นิยมใช้รถยนต์ส่วนตัว เพื่อเลี่ยงความแออัดยัดเยียดบนรถประจำทางและรถไฟฟ้าระบบราง ซึ่งคล้ายกับปัญหาที่กรุงเทพมหานครกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันอย่างมาก
เกาหลีใต้ จึงแก้ไขด้วยการสร้าง 5 เมืองใหม่บริเวณชานเมืองรอบกรุงโซล เพื่อกระจายความแออัดออกไปพร้อมๆ กับนำแนวคิดการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะ แบบ TOD มาใช้พัฒนาสถานีรถไฟฟ้าระบบราง เชื่อมโยงเส้นทางจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมือง ควบคู่กับการพัฒนาระบบรถประจำทางสาธารณะไปพร้อมๆ กันในช่วงเวลานั้นมีการบังคับใช้กฎหมายเช่น กฎหมายว่าด้วยการวางผังเมืองกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนที่ดิน กฎหมายว่าด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัย มาบังคับใช้อย่างเด็ดขาดเพื่อปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้เป็นไปตามผังเมืองระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการแบบเดียวกับเมืองบอสตันรัฐแมสซาชูเซตส์สหรัฐอเมริกา ที่ใช้ตัวบทกฎหมายเข้ามาบังคับใช้ตามแนวทาง TOD เพื่อการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน
พื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าระบบรางของกรุงโซล ถูกจัดวางในรูปแบบพื้นที่แบบผสม (Mixed-Use) ระหว่างพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรมกับที่อยู่อาศัย อาคารปลูกสร้างโดยรอบพื้นที่สถานีใจกลางเมืองถูกกำหนดให้พื้นที่ชั้นล่างเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรมและชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย ทำให้ประชาชนสามารถอาศัยอยู่ใกล้สถานีและสามารถเดินทางไปสถานีได้อย่างสะดวกสบายด้วยการเดิน ในขณะเดียวกันก็สามารถซื้อของใช้ประจำวันได้โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่อื่น ทำให้ที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมและอะพาร์ตเมนต์ในกรุงโซลมีแนวโน้มสูงอย่างต่อเนื่องและเป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก
การพัฒนาในรูปแบบนี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและเอกชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวและได้รับผลประโยชน์ร่วมกันเสมอ แต่ผู้ที่จะได้ผลประโยชน์มากที่สุดต้องเป็นประชาชน รัฐบาลเกาหลีใต้จูงใจนักลงทุนด้วยการวางแผนและสนับสนุนเงินลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานการเชื่อมโยงของระบบทางเท้า ทางจักรยานสัมพันธ์กับพื้นที่รอบสถานี ด้านเอกชนจะได้รับการลดหย่อนภาษี เพื่อลงทุนในพื้นที่ตามแผนที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ โดยมีผลกำไรที่จะได้แน่นอนจากการลงทุน

เกาหลีใต้เริ่มการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าระบบรางมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีค.ศ. 1974 โดยเริ่มปรับปรุงพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าระบบรางให้เป็นไปในรูปแบบ TOD ประมาณปี ค.ศ.2000 จนถึงปัจจุบัน กรุงโซลมีเส้นทางสถานีรถไฟฟ้าระบบรางรวมกันทั้งสิ้น22 เส้นทาง 689 สถานี มีระยะทางรวมถึง 1,117 กิโลเมตรครอบคลุมพื้นที่กรุงโซล และ 5 เมืองโดยรอบมีประชาชนเข้าใช้บริการ เฉลี่ยต่อวันสูงถึง 8 ล้านคน จากประชากรทั้งหมดในกรุงโซล 10 ล้านคน  และเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 2,200 ล้านคน มีการสำรวจการเดินทางของชาวเกาหลีใต้ในกรุงโซล พบว่าประชาชนนิยมเดินทางด้วยรถไฟฟ้าในกรุงโซลสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์ของการเดินทางภายในกรุงโซลทั้งหมด
ในส่วนเกณฑ์เฉลี่ยการเดินทางของประชาชนชาวเกาหลีใต้นิยมการเดินทางด้วยรถไฟเฉลี่ยอยู่ที่35 เปอร์เซ็นต์ มีการใช้รถเมล์สาธารณะสูงถึง 63 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะตามแนวทางของ TOD นั้นช่วยส่งเสริมจูงใจให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ช่วยลดปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ แม้จะมีปัญหารถติดอยู่บ้างแต่กรุงโซลก็ไม่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีรถติดชาวต่างชาติหลายคนรีวิวการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในกรุงโซลโดยตั้งชื่อให้การเดินทางในกรุงโซลว่า “Seoul Smooth” หมายถึงการเดินทางที่สะดวกสบายถึงปลายทางได้อย่างไหลลื่นไม่ติดขัด

จากกรุงโซลที่เคยประสบปัญหาเดียวกับกรุงเทพมหานคร ในวันนี้กรุงโซลพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งสาธารณะ แบบ TOD และประสบความสำเร็จอย่างมาก ในขณะที่กรุงเทพมหานคร แม้จะยังไม่ได้รับการแก้ไขพัฒนาตามแนวทาง TOD อย่างเต็มรูปแบบ แต่ก็ยังไม่สาย หากภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคนร่วมใจสนับสนุนแนวทาง TOD ที่จะนำพาระบบขนส่งสาธารณะของกรุงเทพมหานคร ทัดเทียมกับเหล่าประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างแน่นอน

ข่าวสารอื่นๆ