SRT ในสื่อ

ปิดฉาก “หัวลำโพง” ยุติเดินรถสิ้นปี 64 เปิดพิมพ์เขียวผุด “มิกซ์ยูส” อนุรักษ์ “โดม” เชื่อมเมืองเก่า-ศูนย์ธุรกิจใหม่

นับถอยหลังปิดฉาก...อำลา “หัวลำโพง” หรือสถานีรถไฟกรุงเทพ ที่เปิดให้บริการอยู่คู่กับคนไทยเป็นเวลายาวนาน 105 ปี สู่การพัฒนา ปรับเปลี่ยนบทบาท เป็นศูนย์กลางแหล่งชอปปิ้ง โรงแรม “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ยืนยันใช้สถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีสุดท้ายหรือเป็นสถานีต้นทางและปลายทางแทน “หัวลำโพง” ภายในสิ้นปี 2564 หมายความว่าจะต้องไม่มีรถไฟที่วิ่งเข้าหัวลำโพงเพื่อแก้จุดตัดกับถนน แก้ปัญหาจราจรให้เป็นรูปธรรม และนำพื้นที่ย่านหัวลำโพงทั้งหมดมาพัฒนาปรับโฉมใหม่ ภายใต้แนวคิด ยังคงความเป็นอาคารอนุรักษ์ ผสมผสาน มีการจัดสรรพื้นที่ทั้งแนวราบและแนวสูงใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างรายได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อย่างยั่งยืน

ย้อนอดีต สำหรับสถานีหัวลำโพงถูกออกแบบเป็นรูปโดมสไตล์อิตาเลียนผสมผสานกับศิลปะยุคเรเนสซองส์ และมีนาฬิกาบอกเวลาที่มีอายุเก่าแก่ติดตั้งไว้ที่กึ่งกลางยอดโดมสถานี ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของสถานีเก่าแก่คู่บ้านคู่เมืองนี้ ซึ่งเป็นส่วนที่จะยังคงอนุรักษ์ไว้ ส่วนพื้นที่ด้านในโถงสถานีจะมีการปรับปรุงให้เป็นโมเดิร์นมากขึ้น

ส่วนแนวทางรถไฟ จะมีการจัดระเบียบใหม่ให้มีความสะอาดสวยงาม และทันสมัย เป็นพื้นที่ออกกำลังกาย สำหรับประชาชนที่อยู่สองข้างทางจะต้องจัดระเบียบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาบุกรุกซ้ำซาก โดยเน้นย้ำให้จัดสรรพื้นที่ให้ประชาชนสามารถทำมาค้าขายได้ด้วย

ศักดิ์สยามกล่าวว่า ตามแผนดำเนินงานที่ รฟท.นำเสนอจะทยอยลดขบวนที่จะเข้าหัวลำโพง เพราะบางขบวนยังมีผู้ใช้บริการมาก จำเป็นต้องทยอยเปลี่ยนผ่านเพื่อลดผลกระทบ ส่วนสายใต้ ยังต้องรอระบบเพื่อให้ขบวนรถวิ่งบนโครงสร้างของรถไฟชานเมืองสายสีแดงได้ ซึ่งตนเห็นว่าการหยุดบริการที่หัวลำโพงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำให้เกิดความชัดเจน จึงให้ รฟท.ทำแผนไทม์ไลน์ให้ชัดเจนและต้องตัดสินใจให้เด็ดขาดภายในปี 2564 เพราะไม่ต้องการให้ปิดถนนรอรถไฟวิ่งผ่านเป็นปัญหาจราจรอีกต่อไป พร้อมกันนี้ จะได้เดินหน้าการพัฒนาหัวลำโพงได้

“หากยังไม่กล้าทำให้ชัดเจน มัวแต่กังวลคนใช้บริการเยอะ ไม่หยุดเสียที ทุกอย่างก็เดินต่อไม่ได้ ผมกล้ายอมรับถูกวิพากษณ์วิจารณ์ เพราะสุดท้ายคนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์มหาศาล ดังนั้นต้องกล้าที่จะทำ”

ส่วนการให้บริการสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางมายังหัวลำโพงจะไม่กระทบ เพราะจะมีระบบฟีดเดอร์ เป็นรถ ขสมก.วิ่งบริการระหว่างสถานีกลางบางซื่อ-หัวลำโพง ใช้ทางด่วน และใช้ระบบตั๋วร่วม ผู้โดยสารซื้อตั๋วรถไฟ ปลายทางหัวลำโพง เมื่อลงรถไฟที่สถานีกลางบางซื่อจะสามารถใช้รถ ขสมก.ต่อไปยังหัวลำโพงโดยไม่ต้องเสียค่าโดยสารเพิ่ม อาจต้องปรับพฤติกรรมการเดินทาง

ส่วนการพัฒนาที่ดินรถไฟ คาดหมายในปี 2565 ไม่เฉพาะหัวลำโพง ยังมีทำเลทองที่จะนำมาพัฒนาอีก เช่น สถานีธนบุรี-ศิริราช, พื้นที่แนวพระรามเก้า RCA-คลองตัน ประมาณ 135 ไร่ ซึ่งล้วนมีศักยภาพ มีระบบคมนาคมเชื่อมต่อพื้นที่ จะสร้างรายได้เพิ่มให้ รฟท. และสามารถนำมาอุดหนุนภาระบริการด้าน PSO และคาดหวังว่าจะแก้ปัญหาขาดทุนของ รฟท.ได้อย่างยั่งยืนใน 5 ปีจะเห็นรูปธรรม

@23 ธ.ค.ปรับตารางเดินรถไฟใหม่ วิ่งเข้าหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวน

รถไฟชานเมืองสายสีแดง เส้นทางบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน กำหนดเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ โดยเก็บค่าโดยสาร รวมถึงเป็นการเปิดใช้สถานีกลางบางซื่ออย่างเป็นทางการวันที่ 29 พ.ย. 2564 โดยมี บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) เป็นผู้เดินรถ

ส่วนขบวนรถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล ในปัจจุบัน รฟท.ได้วางแผนปรับตารางการเดินรถใหม่ จำนวน 155 ขบวน โดยเริ่มในวันที่ 23 ธ.ค. 2564 เบื้องต้นจะปรับลดการเดินรถเข้าสถานีหัวลำโพงเหลือ 22 ขบวน/วัน

โดยขบวนรถไฟสายเหนือ และสายอีสาน ปรับตารางเดินรถใหม่ รวมทั้งหมด 74 ขบวน

1. รถไฟทางไกลเชิงพาณิชย์ สายเหนือ ต้นทางเชียงใหม่ สายอีสานต้นทาง “หนองคาย และอุบลราชธานี” จะวิ่งบนโครงสร้างสายสีแดงเข้าสถานีกลางบางซื่อ รวม 42 ขบวน/วัน

2. รถไฟชานเมือง สายเหนือ/สายอีสาน อีกจำนวน 14 ขบวน/วัน ผู้โดยสารเปลี่ยนให้ใช้สถานีรังสิต และสถานีดอนเมืองเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟสายสีแดงเพื่อเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ

3. รถไฟชานเมือง สายเหนือ จำนวน 2 ขบวน/วัน วิ่งบนโครงสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงสู่สถานีกลางบางซื่อ

4. รถไฟชานเมือง สายเหนือ/สายอีสาน จำนวน 6 ขบวน/วัน วิ่งบนโครงสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดงจากรังสิต-วัดเสมียนนารี จากนั้นจะใช้ทางรถไฟเดิมวิ่งเข้าสถานีบางซื่อเดิม และเข้าสู่สถานีหัวลำโพง เนื่องจากเป็นขบวนที่มีผู้โดยสารจำนวนมาก จึงจะทยอยปรับต่อไป

5. ขบวนรถวิ่ง Loop เป็นฟีดเดอร์ สายสีแดงเส้นทางดอนเมือง-รังสิต-บางปะอิน-อยุธยา
จำนวน 10 ขบวน/วัน ความถี่ 1 ชม./ขบวน รองรับการยกเลิกเดินรถไฟบางขบวน

รถไฟสายใต้ มีสถานีตลิ่งชันเป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสาร มีจำนวน 62 ขบวน

• ขบวนรถเร็ว รถด่วน รถด่วนพิเศษ จำนวน 24 ขบวน/วัน จะใช้เส้นทางรถไฟเดิมวิ่งเข้าสถานีบางซื่อเดิม เนื่องจากอยู่ระหว่างจัดหาระบบห้ามล้ออัตโนมัติ โดยหัวรถจักรจะเข้ามากลางปี 2565 จากนั้นจะทดสอบการเดินรถร่วมระหว่างรถไฟทางไกลกับสายสีแดงต่อไป

• รถไฟชานเมือง จากสุพรรณบุรี และนครปฐม จำนวน 2 ขบวน/วัน วิ่งเข้าสถานีหัวลำโพง

• รถไฟชานเมือง เข้าสถานีธนบุรี สามารถใช้สถานีตลิ่งชันของสายสีแดงเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารได้ มีจำนวน 2 ขบวน/วัน และขบวนรถเดิมอีก 10 ขบวน

• ขบวนรถวิ่ง Loop เส้นทางสถานีธนบุรี-ศาลายา-มหิดล-นครปฐม เป็นฟีดเดอร์ สายสีแดง จำนวน 24 ขบวน/วัน

รถไฟสายตะวันออก มีการยกเลิก 7 ขบวนที่เดินรถจากสถานีบางซื่อเข้าพื้นที่ชั้นใน มีการปรับตารางเดินรถ 19 ขบวน

• รถไฟธรรมดา ชานเมือง 14 ขบวน/วัน เข้าสถานีหัวลำโพงเนื่องจากมีผู้โดยสารจำนวนมาก

• รถไฟธรรมดา ชานเมือง จำนวน 5 ขบวน ปรับวิ่งถึงสถานีมักกะสัน เป็นจุดเชื่อมต่อกับแอร์พอร์ตเรลลิงก์

มีจุดเปลี่ยนถ่ายสินค้า 3 จุด
คือ 1. สายเหนือ/อีสาน ที่สถานีเชียงรากน้อย ตามผลศึกษาไจก้าเดิม จะมีการทำลานขนส่งและขยายทาง ใช้เงินลงทุน 497.3 ล้านบาท และหารือผู้ประกอบการขนส่งในการเข้ามาดำเนินการขนถ่ายสินค้า 2. สายใต้ ที่สถานีวัดสุวรรณ จะปรับปรุงวงเงินค่าก่อสร้าง 519.5 ล้านบาท และ 3. สายตะวันออก ที่ ICD ลาดกระบัง

@ปรับโฉมชานชาลา-โรงซ่อม สำนักงาน รฟท. 120 ไร่ ผุดแลนด์มาร์กแห่งใหม่

สำหรับสถานีกรุงเทพ ปัจจุบันมีพื้นที่รวม 120 ไร่ แบ่งเป็น

โซน A - พื้นที่ถนนเข้าออก และลานจอดรถ ด้านคลองผดุงกรุงเกษม 16 ไร่

โซน B - อาคารสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) 13 ไร่

โซน C - โรงซ่อมรถดีเซลรางและรถโดยสาร 22 ไร่

โซน D - ชานชาลาทางรถไฟ 12 ชาน และย่านสับเปลี่ยน 49 ไร่

โซน E - อาคารสำนักงานการรถไฟ ตึกคลังพัสดุ 20 ไร่

อาณาเขต ตั้งแต่ด้านติดถนนพระราม 4 ทอดยาว ผ่านพื้นที่ชานชาลาอาคารกองบังคับการตำรวจรถไฟ สำนักงาน รฟท. ตึกแดง จดถนนพระราม 1 ติดกับสะพานกษัตริย์ศึก ขนาบข้างด้วยคลองผดุงกรุงเกษมและถนนรองเมือง มูลค่าที่ดินกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท

บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (เอสอาร์ทีเอ)​ ในฐานะบริษัทลูกของ รฟท. ได้นำเสนอการศึกษา “สถานีกรุงเทพ” ว่า มีแนวคิดการพัฒนา “เน้นเป็นพื้นที่สาธารณะให้แก่คนเมือง และเพิ่มศักยภาพพื้นที่เชิงพาณิชย์” และด้วยทำเลที่ตั้งอยู่กลางเมือง ใกล้ทางด่วน มีรถไฟสีแดงส่วนต่อขยาย และ MRT สีน้ำเงิน มีเส้นทางรถท่องเที่ยวรอบเมือง ติดคลองผดุงกรุงเกษม สามารถจะพัฒนาเป็น “ศูนย์คมนาคมกลางเมือง”

โดยการจัดสรรพื้นที่เน้นการพัฒนาแนวดิ่ง สำหรับเชิงพาณิชย์ที่ทันสมัย (State-of-Art Mixed Use) เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่เชิงวัฒนธรรมร่วมสมัย แหล่งศูนย์รวมร้านค้า และร้านอาหารที่มีชื่อรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ผสมผสานสินค้าแบรนด์เนมระดับโลก รวมถึงศูนย์ประชุมนานาชาติ และอนุรักษ์อาคาร สถาปัตยกรรมเดิม พื้นที่ประวัติศาสตร์เป็นพิพิธภัณฑ์ (Life Museum) เป็นสะพานเชื่อมประวัติศาสตร์สู่ อนาคต ส่วนพื้นที่โดยรอบมีการปรับเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่กิจกรรม (Green Space)

“อนุรักษ์มรดก คงความเป็นอัตลักษณ์เดิม ปรับปรุงผสมโมเดิร์น เพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตสมัยใหม่ เป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ”

@เปิดพิมพ์เขียว “หัวลำโพง” มิกซ์ยูสระดับเวิลด์คลาส ขนาดมหึมา 9 แสนตารางเมตร

สถานีกรุงเทพ มีทำเลที่ตั้งที่โดดเด่นอย่างมาก เนื่องจากฝั่งหนึ่งเป็นย่านเมืองเก่า ไชน่าทาวน์ และอยู่ไม่ห่างจากรอบเกาะรัตนโกสินทร์ กับอีกฝั่งเป็นศูนย์กลางธุรกิจ หรือ CBD แนวคิดการพัฒนาจึงออกมาในรูปแบบการผสมผสานระหว่างอัตลักษณ์เมืองเก่ากับความทันสมัย ชื่อ “Hualampong Heritage Complex” โดยอาคารโดมสถานีหัวลำโพงด้านหน้าจะอนุรักษ์ไว้เพื่อรำลึกประวัติศาสตร์ของกิจการรถไฟไทยในอดีต

มีพื้นที่พัฒนารวมประมาณ 900,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย เฟสแรก ปรับปรุงอาคารโดมสถานีกรุงเทพ พื้นที่ประมาณ 25,000 ตารางเมตร ซึ่งจะมีการบูรณะโดยคงสถาปัตยกรรมเดิมและพัฒนาโถงด้านในเป็นพื้นที่สำหรับร้านค้าแบรนด์เนม พิพิธภัณฑ์รถไฟ

พัฒนาพื้นที่ส่วนถัดไปผุดอาคารสูง เป็นสำนักงาน ซึ่งการออกแบบตึกนี้ได้แรงบันดาลใจจาก...โลโก้ ของ รฟท.ที่มีลักษณะเป็นปีกนกโอบรอบตึก โดยมีพื้นที่รวม 130,000 ตารางเมตร

พัฒนาพื้นที่ติดกับคลองผดุงกรุงเกษม เป็น Promenade ประมาณ 5 ชั้น พื้นที่ประมาณ 110,000 ตารางเมตร มีร้านค้าและสำนักงาน และมีลานกิจกรรม และทางลงท่าเรือด้วย เพื่อใช้สำหรับการท่องเที่ยวทางน้ำรูปแบบใหม่ๆ
และมีอาคารส่วนของศูนย์ประชุม ขนาดพื้นที่ 55,000 ตารางเมตร และอาคารเป็นโรงแรม Service Residence พื้นที่ 60,000 ตารางเมตร

ส่วนเฟส 2 จะเป็นการพัฒนา ส่วนทางรถไฟและย่านสีเปลี่ยน เป็นอาคารสูงอีก 4 หลัง พื้นที่รวม 490,000 ตารางเมตร พัฒนาสำนักงาน หรือโรงแรม

สำหรับที่ทำการสำนักงานของการรถไฟฯ และตึกแดง ตึกคลังพัสดุ ในปัจจุบันมีพื้นที่รวมประมาณ 30,000 ตารางเมตร เป็นอาคารอนุรักษ์ คงสถาปัตยกรรมเดิม จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยจะบูรณะเป็นร้านค้า และโรงแรมระดับ 6 ดาวเหมือนในยุโรป

หลังจากนี้จะจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บท และที่ปรึกษาออกแบบเพื่อลงรายละเอียด รูปแบบ มูลค่าโครงการที่เกิดประโยชน์สูงสุด

@เร่งไทม์ไลน์ ศึกษาออกแบบ ตั้งเป้าเปิดประมูล ต.ค. 65

สำหรับ Action Plan แนวทางการพัฒนาพื้นที่ ประกอบด้วยการวางแบบแนวคิดการพัฒนาเบื้องต้น ช่วงเดือน ก.ย.-พ.ย. 65, จัดทำแผนแม่บท (ระยะสั้น-ระยะยาว) เสนอคมนาคม เพื่อคัดเลือกที่ปรึกษาด้านแผนแม่บทและที่ปรึกษาออกแบบ เดือน ธ.ค. 64-มิ.ย. 65
สรุปแผนปฏิบัติการและรายละเอียดการพัฒนาและมูลค่าการลงทุน โครงสร้างการลงทุน เสนอขออนุมัติ เดือน ก.ค.-ก.ย. 65, กระบวนการสรรหาเอกชน และเจรจาสัญญาภายใต้โครงสร้างการลงทุน เดือนต.ค. 65-ก.พ. 66 จากนั้นเป็นช่วงการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง

@เร่งแก้ “สีผังเมือง” อุปสรรคผุดตึกสูง

 

การพัฒนาพื้นที่สถานีกรุงเทพยังมีปัญหา อุปสรรค ที่ต้องเร่งแก้ไข ในประเด็นผังเมืองกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2556 ที่ระบุว่าสถานีหัวลำโพงผังที่ดินเป็นสีน้ำเงิน เป็นสถานที่ราชการ ดังนั้นภายใต้นโยบายการจัดประโยชน์ที่ดินต้องสอดคล้องกับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อก่อประโยชน์สูงสุดเชิงพาณิชย์ และการพิจารณาปรับผังเป็นสีแดงตามพื้นที่โดยรอบเป็นสิ่งจำเป็นต่อรูปแบบการพัฒนา และจูงใจเอกชนเข้าร่วมลงทุน

รฟท.ต้องไปดำเนินการเปลี่ยนผังสีเพื่อก่อสร้างตึกสูง รวมถึงการยุติการเดินรถไฟเข้าสถานีหัวลำโพง เพื่อจัดเตรียมพื้นที่ส่งมอบให้เอกชนที่จะเข้ามาพัฒนา ขณะที่ยังมีข้อกังวลเรื่องการจัดระเบียบชุมชน สองข้างทางรถไฟ และเมื่อนักลงทุนที่จะเข้ามาแล้วจะมีกรณีรื้อ...ปรับ เปลี่ยนแบบ มีการทุบทำลายสถาปัตยกรรม ที่ควรอนุรักษ์ของสถานีหัวลำโพงหรือไม่!!!