SRT ในสื่อ

เจาะแผน 3 ปี SRTA ปรับ TOD “บางซื่อ-ธนบุรี” ชูคอนเซ็ปต์ Smart City สร้างเมืองแห่งอนาคต

การพัฒนาพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟ หรือ (TOD) นั้นเป็นเป้าหมายของหลักของการพัฒนาการเดินทางในอนาคตของหลายๆ ประเทศทั่วโลก สำหรับประเทศไทย หากเจาะลงมาที่ กทม. ถึงแม้จะมีรถไฟฟ้าใช้มามากกว่า 20 ปี แล้ว แต่การปรับปรุงพื้นที่รอบสถานี้นั้นยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม หน่วยงานอย่าง SRTA (เอสอาร์ที แอสเสท) จึงถูกก่อตั้งมาเมื่อปีที่ผ่านมา รับหน้าเป็นแม่งานของการพัฒนาพื้นที่รอบๆ สถานีรถไฟของไทย (TOD) โดยมุ่งเป้าไปที่ศูนย์กลางของการเดินทางอย่าง บางซื่อ (บริเวณรอบๆ สถานีกลางบางซื่อ) และศูนย์กลางของย่านสุขภาพ คือ ธนบุรี (รอบๆ สถานีธนบุรี)

เร่งพัฒนาพื้นที่ 180 ไร่ รอบบางซื่อ

ถึงแม้ปัจจุบันสถานีกลางบางซื่อยังถูกเปิดใช้แค่รถไฟในเมือง แต่ในอนาคตจะเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับรถไฟความเร็วสูงไปหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ส่วนพื้นที่รอบๆ สถานีนั้นมีมากถึง 2,300 ไร่ หากจะต้องพัฒนาเต็มพื้นที่คงต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปี

ทาง SRTA จึงได้ศึกษาความเป็นไปได้ของการพัฒนาพื้นที่ และความเหมาะสมของการวางผังเมืองให้เป็นพื้นที่ Smart City ผ่านความร่วมมือจากทั้งไทย และ ประเทศญี่ปุ่น ที่มีความสามารถด้านการทำ TOD

สำหรับเฟสแรกของการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อนั้น จะเลือกพื้นที่ด้านหลังของสถานี ใกล้กับบริษัท SCG มีพื้นที่ประมาณ 170-180 ไร่ โดยบางส่วนจะสร้างเป็นอาคารสำนักงาน อีกส่วนจะเป็น Mixed-Use สำหรับคอนโดมิเนียมจะไม่ได้อยู่ในเฟสนี้

เจาะแผน 3 ปี SRTA ปรับ TOD “บางซื่อ-ธนบุรี” ชูคอนเซ็ปต์ Smart City สร้างเมืองแห่งอนาคต

ไตรทิพย์ ศิวะกฤษณ์กุล กรรมการบริษัทและรักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด กล่าวว่า การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีกลางบางซื่อที่เป็นพื้นที่ใหญ่มากใจกลางเมือง จะต้องวางแผนอย่างดี ซึ่งทาง SRTA ได้ร่วมงานกับบริษัท UR (Urban Renaissance Agency) เป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคมของญี่ปุ่น มีสถานะคล้ายกับ SRT Asset

โดย UR จะเข้ามาเป็นที่ปรึกษา ร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางพัฒนาพื้นที่ และยังลงนามเพื่อหาผู้ลงทุนเข้ามาในโครงการบางซื่อด้วย

คาดว่าในครึ่งปีหลังของปี 2566 จะมีความชัดเจนของแผน และได้รับการอนุมัติจากการรถไฟ เพราะที่ดินเป็นที่ของการรถไฟ SRT Asset จะต้องเช่าที่ดินจากการรถไฟมาเปิดประมูลต่อ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มประมูลได้ช่วงปลายปี 2566 และคาดว่าจะใช้เวลาอีก 2-3 ปี ทำงานในเชิงกระบวนการต่างๆ หลังจากการประมูลเช่าพื้นที่ ซึ่งภายในปี 2568 จะได้เห็นการก่อสร้างเกิดขึ้น

“ทั้งนี้เราจะกำหนดเงื่อนไขของการยื่นแบบประมูล โดยปรึกษากับทาง UR ก่อนจะออกเป็นเงื่อนไขที่ผู้ประมูลต้องทราบ แต่โดยพื้นฐานจะต้องเป็น Smart City ก็จะต้องดูว่ามีเทคโนโลยีอะไรเข้ามาประกอบบ้าง รวมถึงพื้นที่สีเขียวที่จะต้องมี คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในกลางปีหน้า”

สถานีธนบุรี ศูนย์กลางด้านสุขภาพ

สำหรับสถานีธนบุรี นั้นเป็นอีก 1 แผนใหญ่ของ SRTA โดยจะร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช พัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ และสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์

ไตรทิพย์ กล่าวว่า ในเฟสแรกจะพัฒนาพื้นที่ 21 ไร่ ซึ่งจะเปิดประมูลเร็วๆ นี้ โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งจะถูกพัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม เป็นที่พักสำหรับแพทย์และพยาบาล พื้นที่อีกส่วนจะเป็น Medical Hub แต่ยังต้องหารือกับ รพ.ศิริราช ว่าจะพัฒนาพื้นที่ออกมาเป็นรูปแบบไหน อีกส่วนหนึ่งจะเป็นที่พักสำหรับพนักงานการรถไฟ เพราะพื้นที่ในส่วนนี้เดิมเป็นที่พักของพนักงานการรถไฟ และส่วนสุดท้ายจะถูกพัมนาเป็น Mixed-Use

อีกส่วนสำคัญ คือ พื้นที่บริเวณนี้มีพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ค่อนข้างมาก บริษัทมีแผนจะเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนให้เป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา และการที่เป็นพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่จะถูกพัฒนาให้สามารถเชื่อมการเดินทางทางเรือ รถไฟ และรถยนต์ เข้าด้วยกัน

“สำหรับพื้นที่บริเวณนี้ บริษัทสามารถดำเนินการได้เองโดยร่วมมือกับโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจนในการหาผู้ลงทุนไม่เกินกลางปี 2566 และเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2567 ซึ่งเรามั่นใจว่าจะตอบโจทย์คนในพื้นที่ และบุคลากรทางการแพทย์”

ไตรทิพย์ ยังกล่าวต่อไปว่า สำหรับ สถานีแม่น้ำ บริษัทได้เริ่มศึกษาอีกครั้งหนึ่งว่าพื้นที่บริเวณนี้เหมาะสมที่จะพัฒนาไปในแนวทางใดบ้าง ซึ่งในปีหน้าก็จะบอกได้ว่าพื้นที่ตรงนี้จะมีแนวทางการพัฒนาไปอย่างไร รวมถึงรอบๆ บริเวณ Airport Rail Link สถานีราชปรารภ ก็มีแนวโน้มว่าจะเข้าไปพัฒนา โดยปล่อยให้เอกชนเข้ามาประมูลพื้นที่

ซึ่งแนวทางการพัฒนา จะมีการศึกษาว่าแต่ละพื้นที่นั้นมีความต้องการอะไร ให้มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของพื้นที่ ขณะเดียวกันพื้นที่ทั้งหมดเป็นการเปิดประมูล ผู้ประมูลจะต้องพิจารณาแล้วว่าในพื้นที่ที่ประมูลไปนั้นเหมาะสมกับการทำธุรกิจประเภทใดที่คุ้มค่ากับการลงทุน

“ภายใน 3 ปีนี้ เราจะได้เห็นแนวทางชัดเจนว่าในแต่ละพื้นที่เราจะพัฒนาอะไรบ้าง เพราะเรามีการศึกษาและทำแผนอย่างชัดเจน ในทุกพื้นที่ เราตั้งใจเต็มที่ที่จะช่วยพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟ ส่วนหนึ่งเพื่อให้มีรายได้เพื่อฟื้นฟูกิจการของการรถไฟ ส่วนหนึ่งคือเราตั้งใจพัฒนาพื้นที่เพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนให้ได้มากที่สุด”