SRT ในสื่อ

ออกแบบพื้นที่ TOD สำหรับผู้พิการ

ทุกครั้งที่เรารู้สึกถึงการใช้ชีวิตในเมืองอย่างยากลำบาก จะมีคนกลุ่มหนึ่งใช้ชีวิตที่ยากลำบากกว่า และในทุกวันที่เราทำสิ่งที่ดูง่ายแค่การขยับเท้าก้าวเดิน จะมีคนอีกกลุ่มที่ทุกย่างก้าวคือสิ่งที่ต้องระวัง คนกลุ่มนั้น คือ ผู้พิการ กลุ่มคนที่เราลืมไปว่าพวกเขาก็มีตัวตนขับเคลื่อนสังคมในมุมใดมุมหนึ่ง หากเรามองโดยรอบเราจะพบว่าเมืองส่วนใหญ่ ยังขาดการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการมากมาย ตามหลักการออกแบบพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะ TOD (Transit Oriented Development) ได้คำนึงถึงพื้นฐาน การออกแบบพื้นฐานเดินทางที่จูงใจให้ประชาชนทุกคนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ  ก็ได้วางแนวทางการออกแบบสำหรับกลุ่มผู้พิการเอาไว้เช่นกัน

เข้าถึง เท่าเทียม เท่าทัน ยั่งยืน

TOD ได้ให้ความสำคัญกับการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการใน 8 ข้อ ผสานกับการออกแบบที่เรียกว่า Universal Design (UD) หรือที่รู้จักกันในชื่อ อารยสถาปัตย์ การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ซึ่งเป็นแนวคิดการออกแบบ “เข้าถึง เท่าเทียม เท่าทัน ยั่งยืน” ดังต่อไปนี้

1.โครงข่ายทางเดินเท้า(Walk) การออกแบบโครงข่ายทางเดินเท้า ต้องมีเส้นทางลาดสำหรับผู้ใช้วีลแชร์, ช่องแสดงเส้นทางเดินพิเศษสำหรับผู้พิการทางสายตา และสัญญาณไฟจราจรที่มีเสียงดังเป็นพิเศษสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน

2.เส้นทางจักรยาน (Cycle) การออกแบบเส้นทางจักรยานนั้น สามารถเอื้อประโยชน์ให้กับผู้พิการที่เดินทางด้วยจักรยานแบบ 3 ล้ออยู่แล้ว แต่สิ่งที่จะเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้เส้นทางจักรยาน ไม่ว่าจะเป็นคนปกติหรือผู้พิการก็คือ การสร้างแนวกั้นแบ่งเส้นทางสำหรับผู้ใช้เส้นทางจักรยานโดยตรง เพราะผู้พิการที่ใช้เส้นทางจักรยานจะเคลื่อนที่ได้ช้า หากใช้เส้นทางจักรยานร่วมกับพื้นที่ถนน หรือเส้นทางเดินเท้า อาจกีดขวางการจราจร และทำให้ผู้พิการรู้สึกอึดอัดที่จะเดินทางด้วยวิธีนี้

3.การเชื่อมต่อเส้นทาง (Connect) รอยต่อระหว่างการเดินทาง คือ สิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้พิการสามารถเดินทางถึงจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกสบาย การเลือกใช้แผ่นทางเดินอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการ ในการขึ้นรถบัสโดยสารประจำทาง ขึ้นรถไฟฟ้า หรือเดินทางต่อด้วยเรือ การออกแบบเส้นทางลาดสำหรับผู้พิการในอาคารต่าง ๆ หรือออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางได้อย่างสะดวกสบาย คือ จุดสำคัญที่จะทำให้ผู้พิการรู้สึกได้ถึงความเท่าเทียม มีคุณค่าในตัวเอง และไม่รู้สึกเป็นภาระของสังคม

4.ระบบขนส่งสาธารณะ (Transit) ในแนวทางช่วยเหลือผู้พิการที่เดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ สามารถออกแบบแอปพลิเคชันสำหรับจองตั๋วการเดินทาง เพิ่มช่องทางเข้า การอำนวยความสะดวกด้วยลิฟต์ขึ้นลงสถานี หรือช่องจำหน่ายตั๋วพิเศษสำหรับผู้พิการ ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการทางสายตา ผู้พิการทางการได้ยิน หรือผู้พิการแขนขา รวมทั้งที่นั่งหรือตำแหน่งพิเศษสำหรับผู้พิการในรถบัสโดยสารและรถไฟ เป็นต้น สิ่งที่สำคัญก็คือ ในสังคมมีกลุ่มผู้พิการหลากหลายแบบ แต่ละแบบก็มีความต้องการพิเศษที่แตกต่างกันออกไป นอกจากการออกแบบบริการพื้นฐานแล้ว การอบรมเจ้าหน้าที่ให้รู้จักวิธีการให้บริการพิเศษแก่ผู้พิการ จึงเป็นอีกหนึ่งการแก้ปัญหาที่เหมาะสมและได้รับการยอมรับ

5.การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน (Mix) การใช้ที่ดินแบบผสมผสาน ระหว่างที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า พื้นที่ส่วนกลาง พื้นที่สำนักงานในอาคารเดียวกัน ถือเป็นจุดเด่นของการออกแบบตามแนวทาง TOD นอกจากสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการในพื้นที่แล้ว อาจจะมีการพิจารณาถึงการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวที่มีผู้พิการ หรือครอบครัวที่มีผู้สูงอายุขึ้นมาโดยเฉพาะ อาจเลือกเป็นพื้นที่ ที่สามารถเดินออกจากที่พัก แล้วเข้าถึงพื้นที่สถานีขนส่งสาธารณะ หรือพื้นที่อื่นโดยรอบได้สะดวกมากยิ่งขึ้น

6.ทำให้หนาแน่นอย่างเหมาะสม (Densify) การบริหารจัดการความหนาแน่นในพื้นที่ มีผลต่อผู้พิการโดยตรง เพราะผู้พิการมีความต้องการพื้นที่มากกว่าคนปกติ เช่น การใช้ไม้เท้านำทาง จะไม่สามารถใช้ได้ในพื้นที่ ที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก หรือผู้ใช้วีลแชร์ จะไม่สะดวกใช้บริการขนส่งสาธารณะในช่วงเวลาเร่งด่วน ทำให้ผู้พิการต้องเลือกเดินทางในช่วงเวลาอื่น เป็นต้น แต่หากมีการบริหารจัดการความหนาแน่นที่ดี ทุกคนรวมถึงผู้พิการจะไม่รู้สึกอึดอัดในการใช้ชีวิตในพื้นที่ และสามารถเดินทางไปยังพื้นที่อื่นได้อย่างสะดวกสบาย

 

7.สร้างพื้นที่ ที่มีความกระชับในการเดินทาง (Compact) การออกแบบเส้นทางให้เชื่อมต่อและครอบคลุม ผสานกับการวางผังพื้นที่ในหัวข้อ Mix ให้มีสิ่งอำนวยความสะดวก ในรัศมี 600 เมตรจากสถานีขนส่งสาธารณะ จะช่วยให้ผู้พิการเดินทางด้วยตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น จากที่พักไปยังตลาดสดไม่เกิน 200 เมตร หรือร้านขายยาในระยะ 400 เมตร การวางร้านค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกให้อยู่ในพื้นที่ใกล้ที่พักอาศัย จะช่วยให้ผู้พิการสามารถใช้วีลแชร์ หรือเลือกเดินเท้าด้วยตัวเองไปยังที่หมาย นอกจากนี้การที่มีพื้นที่ร้านค้าหรือพื้นที่เศรษฐกิจ ยังช่วยสร้างงานใกล้ที่พักอาศัยให้กับผู้พิการทางอ้อมได้อีกด้วย

 

8.เพิ่มจำนวนผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ (Shift) การจูงใจโน้มน้าวให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ คือ เป้าหมายสูงสุดของ TOD และเมื่อทุกคนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ความรู้สึกเรื่องความไม่เท่าเทียมก็จะลดน้อยลง โดยเฉพาะผู้พิการที่ส่วนใหญ่มีเกณฑ์เฉลี่ยรายได้น้อยกว่าคนปกติ และเมื่อผู้มีรายได้สูงขับรถส่วนตัว ขณะที่ผู้พิการต้องใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ยิ่งสร้างความรู้สึกไม่เท่าเทียมเกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามในประเด็นเรื่องการออกแบบพื้นที่รอบสถานีขนส่งสาธารณะที่เอื้อต่อผู้พิการนั้น จะมีบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณในการพัฒนา เช่น จำนวนผู้พิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ จุดคุ้มทุนในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก ภาษีที่ได้รับจากผู้พิการรวมกันแล้ว มากพอที่จะนำมาสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านี้หรือไม่

ปัญหาเหล่านี้สามารถแก้ได้ด้วยการออกกฎหมายข้อบังคับในการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้พิการให้เกิดขึ้นอย่างไม่มีข้อแม้ เพราะการออกแบบพื้นที่เมืองที่ดีต้องคำนึงถึงผู้ใช้งาน ทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ถ้าประชาชนใช้บริการโครงสร้างพื้นฐานแล้วเกิดความติดขัด มีอุปสรรค ไม่ต่อเนื่องในการใช้งาน   เราทุกคนอาจไม่ต่างกับคนพิการ ที่อาศัยในเมืองพิการ แต่ถ้าเมืองออกแบบมาอย่างดีสำหรับทุกคน จะไม่มีใครสักคนที่ใช้ชีวิตอย่างผู้พิการแม้แต่ตัวผู้พิการเอง ในเมืองแห่งนั้น

ข่าวสารอื่นๆ